บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
………………………………….
สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและแรงงานไตรมาส 4 ปี 2552 ของจังหวัดลพบุรี
มีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้
ภาวะเศรษฐกิจ
โครงสร้างเศรษฐกิจจังหวัดลพบุรี ตามข้อมูล GPP ปี พ.ศ.2551 ภาวะเศรษฐกิจจังหวัดลพบุรีขึ้นกับภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และค้าส่งค้าปลีก โดยมีสัดส่วนร้อยละ 43.72 13.83 และ 11.72 ของมูลค่า GPP รวมทั้งจังหวัด ตามลำดับ โดยมีรายได้ต่อหัวประชากร 97,306 บาท/คน/ปี
ภาพรวมเศรษฐกิจจังหวัดลพบุรี ในปี 2552 ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ภาคอุตสาหกรรม และเกษตรซึ่งเป็นโครงสร้างหลักของจังหวัดขยายตัวในอัตราที่ต่ำลง ส่วนภาคการค้า หดตัวลงจากการบริโภคที่ลดลงของประชาชน
แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจจังหวัดลพบุรี ปี พ.ศ.2553 คาดว่าภาวะเศรษฐกิจจังหวัดลพบุรี จะขยายตัวขึ้นจาก ปีก่อน โดยมีปัจจัยบวกการลงทุนของรัฐบาลในโครงการไทยเข้มแข็งที่จังหวัดลพบุรีได้รับงบประมาณทั้งสิ้น 1,883.70 ล้านบาท ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ภาคเอกชนกลับมาลงทุน เกิดการจ้างงาน และการบริโภคในจังหวัด ราคาสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมยังคงขยายตัวได้ดี เพราะแนวโน้มการส่งออกขยายตัวดีขึ้น แต่ยังคงมีปัจจัยด้านลบที่อาจส่งให้เศรษฐกิจไม่ขยายตัวเท่าที่ควร คือ ราคาน้ำมันที่ยังคงผันผวน และค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น
สถานการณ์ด้านแรงงาน
ประชากรและกำลังแรงงาน ประชากรในจังหวัดลพบุรีมีจำนวน 778,440 คน เป็นผู้อยู่ในกำลังแรงงานจำนวน 473,108 คน ผู้มีงานทำ 462,343 คน ผู้ว่างงาน 8,749 คน
การมีงานทำ ผู้มีงานทำ 462,343 คน พบว่าทำงานในภาคเกษตรกรรม 157,037 คน คิดเป็นร้อยละ 33.96 ของผู้มีงานทำทั้งหมด ส่วนผู้ทำงานนอกภาคเกษตรกรรมมีจำนวน 305,306 คน (ร้อยละ 66.04 ของผู้มีงานทำทั้งหมด) โดยกลุ่มผู้ทำงานนอกภาคเกษตรกรรมจะทำงานในสาขาการผลิตมากที่สุดจำนวน 90,047 คน คิดเป็นร้อยละ 29.49 ของผู้ทำงานนอกภาคเกษตรกรรมทั้งหมด รองลงมาคือ การขายส่ง การขายปลีก มี 80,633 คน คิดเป็นร้อยละ 26.41 ของผู้ทำงานนอกภาคเกษตรกรรมทั้งหมด โรงแรมและภัตตาคาร 33,137 คน ร้อยละ 10.85 การก่อสร้าง จำนวน 25,243 คน ร้อยละ 8.27 และการศึกษา จำนวน 20,517 คน ร้อยละ 6.72
การว่างงาน ผู้ว่างงานในจังหวัดลพบุรีมีประมาณ 8,749 คน หรือมีอัตราการว่างงานร้อยละ 1.85
แรงงานนอกระบบ ผู้ทำงานอยู่ในแรงงานนอกระบบจำนวน 245,389 คน ส่วนใหญ่จะทำงาน
ในภาคเกษตรจำนวน 132,921 คน หรือร้อยละ 54.16 นอกภาคเกษตร 112,468 คน หรือร้อยละ 45.84 โดยอุตสาหกรรมที่มีแรงงานนอกระบบและนอกภาคเกษตรทำงานสูงสุดคือ การขายส่ง การขายปลีก การซ่อมแซม ยานยนต์ จำนวน 50,835 คน (ร้อยละ 45.20) ของแรงงานนอกระบบนอกภาคเกษตรกรรมทั้งหมด รองลงมาคือโรงแรมและภัตตาคาร 22,206 คน (ร้อยละ 19.74) สาขาการผลิต 14,354 คน (ร้อยละ 12.76) การก่อสร้าง 8,718 คน (ร้อยละ 7.75) และการบริการชุมชน สังคม 6,958 คน (ร้อยละ 6.19) ของแรงงานนอกระบบนอกภาคเกษตรกรรมทั้งหมด
การบริการจัดหางานของจังหวัดลพบุรี ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2552 นายจ้าง/สถานประกอบการ
ได้แจ้งตำแหน่งงานว่าง 1,659 อัตรา โดยมีผู้ลงทะเบียนสมัครงานจำนวนทั้งสิ้น 1,373 คน และมีผู้ได้รับการบรรจุให้มีงานทำทั้งสิ้น 1,455 คน หากพิจารณาถึงรายละเอียดของระดับการศึกษาจะพบว่าตำแหน่งงานว่างที่มีความต้องการ คือ ระดับมัธยมศึกษามากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 41.59 (690 อัตรา) รองลงมาเป็นระดับ ปวช./ปวส./อนุปริญญา โดยมีสัดส่วน ร้อยละ 38.46 (638 อัตรา) ระดับประถมศึกษาและต่ำกว่ามีสัดส่วนร้อยละ 15.07 (250 อัตรา) และระดับปริญญาตรีมีสัดส่วนร้อยละ 4.88 (81 อัตรา) แสดงให้เห็นว่าตลาด แรงงานมีความต้องการแรงงานในระดับต่ำกว่าปริญญาตรีสูง ดังนั้นการผลิตกำลังคนจึงต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในพื้นที่ด้วย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานขณะที่ผู้สมัครงานไตรมาสนี้ ผู้มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษามีจำนวนมากที่สุด คือ ร้อยละ 57.83 (794 คน) รองลงมาเป็นระดับประถมศึกษาและต่ำกว่า จำนวน 261 คน (ร้อยละ 19.01) ระดับปวช./ปวส./อนุปริญญา ร้อยละ 16.39 (225 คน) ระดับปริญญาตรี คือ ร้อยละ 6.63 (91 คน) และระดับปริญญาโท ร้อยละ 0.15 (2 คน) หากพิจารณาด้านการบรรจุงาน พบว่าระดับมัธยมศึกษาได้รับการบรรจุงานมากที่สุด มีร้อยละ 56.56 (823 คน) ระดับปวช./ปวส./อนุปริญญา จำนวน 339 คน (ร้อยละ 23.30) ระดับปริญญาตรีมีร้อยละ 11.34 (165 คน) และระดับ ประถมศึกษาและต่ำกว่า 128 คน (ร้อยละ 8.80) ของจำนวนผู้ที่ได้รับการบรรจุงานทั้งหมด
การจ้างงานคนต่างด้าว ด้านแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตผ่อนผันให้ทำงานตามมติ ครม. จำแนกตามสัญชาติมีจำนวนทั้งสิ้น 4,669 คน จำแนกเป็นสัญชาติพม่ามากที่สุด จำนวน 4,043 คน คิดเป็นร้อยละ 86.59 สัญชาติกัมพูชา จำนวน 227 คน คิดเป็นร้อยละ 4.86 และสัญชาติลาว 399 คน คิดเป็นร้อยละ 8.55 ของแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตผ่อนผันให้ทำงานทั้งหมด ส่วนคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมายในจังหวัดลพบุรี มีจำนวนทั้งสิ้น 298 คน โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวประเภทส่งเสริมการลงทุน จำนวน 125 คน (ร้อยละ 41.95) รองลงมาเป็นประเภทชั่วคราว จำนวน 122 คน (ร้อยละ 40.94) คนต่างด้าวประเภทมาตรา 12 (ยกเว้นมติคณะรัฐมนตรี) จำนวน 38 คน (ร้อยละ 12.75) ขณะที่คนต่างด้าวประเภทตลอดชีพมีจำนวนน้อยที่สุด คือ 13 คน คิดเป็นร้อยละ 4.36 ของคนต่างด้าวถูกกฎหมายทั้งหมด
แรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2552 มีผู้ได้รับอนุญาตไปทำงานต่างประเทศจำนวน 47 คน หากพิจารณาตามวิธีการเดินทางของผู้ที่เดินทางไปทำงานพบว่า ส่วนใหญ่เป็นประเภท Re-Entry คือ กลับไปทำงานอีกครั้งหนึ่งโดยการต่ออายุสัญญา คือ 38 คน (ร้อยละ 80.85) รองลงมาคือนายจ้างพาไปฝึกงาน 7 คน (ร้อยละ 14.89) และเดินทางด้วยตนเอง 2 คน (ร้อยละ 4.26)
ส่วนภูมิภาคที่แรงงานไทยได้รับอนุญาตให้เดินทางไปทำงานในไตรมาสนี้ ส่วนใหญ่จะไปทำงาน
ในภูมิภาคเอเชียจำนวน 21 คน คิดเป็นร้อยละ 44.68 ของแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศทั้งหมด รองลงมาคือภูมิภาคตะวันออกกลางมีจำนวน 12 คน คิดเป็นร้อยละ 25.53 ภูมิภาคอื่นๆ จำนวน 10 คน คิดเป็นร้อยละ 21.28 และแอฟริกา 4 คน คิดเป็นร้อยละ 8.51 ของแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศทั้งหมด
การพัฒนาศักยภาพแรงงาน ในไตรมาส 4 ปี 2552 ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดลพบุรีได้ดำเนินการฝึกอบรมพัฒนาผู้ใช้แรงงานในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ การฝึกยกระดับฝีมือแรงงาน พบว่ากลุ่มอาชีพที่ได้รับการฝึกยกระดับฝีมือแรงงานมากที่สุด คือ ประเภทธุรกิจและบริการ จำนวน 265 คน คิดเป็นร้อยละ 72.20 รองลงมาเป็นช่างเครื่องกล จำนวน 71 คน คิดเป็นร้อยละ 19.35 และช่างไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ จำนวน 31 คน คิดเป็นร้อยละ 8.45 ทั้งนี้ผู้เข้ารับการอบรมผ่านการฝึกยกระดับฝีมือแรงงานทั้งหมด
การประกันสังคม มีสถานประกอบการที่อยู่ในข่ายกองทุนประกันสังคม จำนวน 2,210 แห่ง ลูกจ้างทั้งสิ้น 64,688 คน และมีสถานพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคมทั้งสิ้น 3 แห่ง ซึ่งเป็นสถานพยาบาลภาครัฐ
ในด้านการใช้บริการจากกองทุนประกันสังคมเมื่อพิจารณาตามประเภทของประโยชน์ทดแทน(ไม่เนื่องจากการทำงาน) ซึ่งมี 7 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน พบว่ามีผู้ใช้บริการทั้งสิ้น 26,086 ราย สำหรับประเภทประโยชน์ทดแทนที่ผู้ประกันตนใช้บริการสูงสุดได้แก่ กรณีสงเคราะห์บุตร มีผู้ประกันตนใช้บริการ 13,484 ราย คิดเป็นร้อยละ 51.69 ของผู้ใช้บริการทั้งหมด รองลงมาได้แก่กรณีเจ็บป่วย ว่างงาน คลอดบุตร ชราภาพ ทุพพลภาพ และตาย โดยมีสัดส่วนร้อยละ 27.52 15.45 3.27 1.48 0.32 และ 0.27 ตามลำดับ
…………………………………………………………….